Activities-Based Learning (ABL) คืออะไร?
Activities-Based Learning แปลเป็นไทยก็คือการจัดการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมเป็นพื้นฐาน เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่ใหญ่โตหรือใช้พื้นที่ขนาดกว้างมากๆ (แต่บางกิจกรรมก็จำเป็นต้องใช้) เพราะบางบทเรียนการให้ผู้เรียนทำกิจกรรมด้วยตัวเอง จะทำให้เกิดความเข้าใจในตัวบทเรียนมากขึ้นหลังจากการอ่าน การท่องจำหรือการฟังที่ครูสอน
อันที่จริงแล้ว ABL นั้นก็มักจะมีให้เห็นอยู่บ่อยๆในการเรียนการสอนบางรายวิชา เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ที่มีการทดลองต่างๆเพื่อพิสูจน์ผลลัพธ์การทดลอง วิชาพละศึกษาที่เน้นการทำกิจกรรมผ่านการออกกำลังหรือเล่นกีฬา วิชาคหกรรมและงานฝีมือต่างๆที่ต้องลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของการเรียนรู้ แต่ก็ยังมีรายวิชาอื่นๆอีกมาก ที่ยังใช้การเรียนการสอนแบบเก่า คือตาดูหูฟัง อ่านและท่องจำ แต่ที่ว่ามานั้นไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ เรายังจำเป็นต้องเรียนรู้จากพื้นฐานโดยใช้การอ่านและจดจำทฤษฎีต่างๆ การดูและฟังคำอธิบายจากครูผู้สอนประกอบการเรียน แต่บ่อยครั้ง มันก็ไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้กับผู้เรียนได้ทุกคน และบางทีมันก็ทำให้ผู้เรียนเกิดอาการง่วงหงาวหาวนอน เกิดอาการเบื่อและไม่อยากเรียนรู้ขึ้นมาก็ได้ ซึ่ง การนำ ABL มาช่วยในการเรียนการสอนก็จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจ เพิ่มความสนุก สร้างความเข้าใจให้กับผู้เรียนได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านกิจกรรมหรือเกมที่ได้ทำ ได้เห็นคำตอบหรือผลลัพทธิ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ในปัจจุบัน การเรียนการสอนแบบ ABL คือ หนึ่งในวิธีที่ยึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Centered) เหมือนกับกระบวนการเรียนการสอนอื่นๆที่กำลังเป็นที่นิยม เน้นให้ผู้เรียนลงมือทำ เรียนรู้และจดจำ แก้ปัญาจากประสบการณ์จริงผ่านกิจกรรมที่คุณครูได้ออกแบบขึ้นมา มีการตั้งวัตถุประสงค์ของกิจกรรมกับประเมินผลเพื่อนำไปพัฒนาการเรียนการสอนในครั้งต่อๆไป และกิจกรรมส่วนใหญ่ก็มักจะมีแนวโน้มอิงกับโลกความเป็นจริงมากขึ้น กล่าวคือ เวลาที่ผู้เรียนทำกิจกรรม นอกจากจะเพลิดเพลินแล้วยังต้องได้ทักษะการแก้ปัญหาที่สามารถนำไปปรับใช้จริงในชีวิตประจำวันได้ นอกเหนือจากความรู้ขั้นพื้นฐานที่ได้รับ
บางครั้ง ABL ก็ปรับตามพื้นที่และบริบทของโรงเรียน ในต่างจังหวัดก็มีโรงเรียนจำนวนมากที่ออกแบบกิจกรรมให้เข้ากับพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่ ไม่ได้จำกัดแค่จัดขึ้นในห้องเรียน แต่พาไปดูและไปลองปลูกข้าว ปลูกพืชและจัดทำสินค้าที่มาจากการทำกิจกรรมเลยก็มี(ใช่ว่าจะต้องเป็นที่ต่างจังหวัดเสมอไป เพราะวิชาคหกรรมของบางโรงเรียนก็นำสิ่งที่พวกเขาทำในคาบเรียน เช่น น้ำผลไม้หรือของกินต่างๆ มาขายให้แก่เพื่อนนักเรียนในโรงเรียนกินกันก็มี) ถ้าเป็นในตัวเมืองที่มีเทคโนโลยีเข้าถึง ก็อาจบูรณาการนำเทคโนโลยีมาใช้กับกิจกรรมที่ออกแบบขึ้นมาก็ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ากิจกรรมนั้นจัดขึ้นมาเพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องอะไรและขึ้นอยู่กับความถนัดของคุณครูผู้สอนด้วย
คนที่สนุกกับการเรียนรู้อาจไม่ได้มีแค่ผู้เรียนเท่านั้น คุณครูก็อาจจะได้รับความสนุกที่ได้เห็นผู้เรียนมีความสุขกับการเรียน ได้เห็นพวกเขาพยายามทำกิจกรรมที่เราได้ออกแบบอย่างจริงจัง เห็นการมีปฏิสัมพันธ์กันของผู้เรียนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างการทำกิจกรรม มันก็อาจคุ้มค่าที่จะลองจัดการเรียนการสอนแบบ ABL ดูซักครั้ง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น